ประวัติวงปี่พาทย์

วงปี่พาทย์   

         วงดนตรีไทยประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเครื่องเป่า คือ ปี่ ผสมกับเครื่องตี ได้แก่ระนาดและฆ้องวงชนิดต่าง ๆ เป็นหลัก และยังมีเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน กลองทัด กลองแขก และกลองสองหน้า ปี่พาทย์นี้บางสมัยเรียกว่า "พิณพาทย์"  วงปี่พาทย์อาจจำแนกประเภทแตกต่างกันไป  แต่ที่พอจะรวบรวมได้ มีทั้งสิ้น 8 แบบ
1. วงปี่พาทย์เครื่องห้า  
                                 

เป็นวงปี่พาทย์ที่เป็นวงหลัก มีจำนวนเครื่องดนตรีน้อยชิ้นที่สุด ดังนี้
-ปี่ใน 1 เลา
-ระนาดเอก 1 ราง
-ฆ้องวงใหญ่ 1 วง
-กลองทัด 2 ลูก
-ตะโพน 1 ลูก
-ฉิ่ง 1 คู่ (ในบางกรณีอาจใช้ฉาบ กรับ โหม่งด้วย)


2. วงปี่พาทย์เครื่องคู่

 
เป็นวงปี่พาทย์ที่ประกอบด้วยเครื่องทำทำนองเป็นคู่เนื่องด้วยในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้คิดเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก 2 อย่าง คือ ระนาดทุ้มกับฆ้องวงเล็ก และนำเอาปี่นอกซึ่งใช้ในการบรรเลงปี่พาทย์สำหรับการแสดง หนังใหญ่สมัยโบราณมารวมเข้ากับวงปี่พาทย์เครื่องห้าที่มีอยู่เดิม
วงปี่พาทย์เครื่องคู่มีเครื่องดนตรีดังนี้

-ปี่ 1 คู่ คือ ปี่ในและปี่นอก
-ระนาด 1 คู่ คือ ระนาดเอกและระนาดทุ้ม
-ฆ้องวง 1 คู่ คือ ฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็ก
-กลองทัด 1 คู่
-ตะโพน 1 ลูก
-ฉิ่ง 1 คู่                                                              
-ฉาบเล็ก 1 คู่  
-ฉาบใหญ่ 1 คู่      
-โหม่ง 1 ใบ
-กลองสองหน้า 1 ลูก (บางทีใช้กลองแขก 1 คู่ แทน) และในบางกรณีอาจใช้กรับด้วย


3. วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

 

เป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่เพิ่มระนาดเอกเหล็กกับระนาด  บางวงก็เพิ่มกลองทัด รวมเป็น 3 ใบบ้าง 4 ใบบ้าง ส่วนฉาบใหญ่นำมาใช้ในวงปี่พาทย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  วงปี่พาทย์ทั้งเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ ถ้ามีการบรรเลงเพลงภาษาจะใช้เครื่องดนตรีกำกับจังหวะของภาษานั้น ๆ ด้วย เช่น
-ภาษาเขมร ใช้ โทน
-ภาษาจีน ใช้ กลองจีน กลองต๊อกแต๋ว
-ภาษาฝรั่ง ใช้ กลองมริกัน (อเมริกัน) หรือกลองแตร็ก (side drum, snare drum)
-ภาษาพม่า ใช้ กลองยาว
-ภาษามอญ ใช้ ตะโพน เปิงมาง


4. วงปี่พาทย์นางหงส์

 

เป็นวงปี่พาทย์ธรรมดาซึ่งใช้บรรเลงทั่วไป แต่เมื่อนำมาใช้ประโคมในงานศพ จะนำวงบัวลอยซึ่งประกอบด้วยปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 1 คู่ และเหม่ง 1 ใบ ที่ใช้ประโคมในงานศพเข้ามาผสม (ดู วงบัวลอย ประกอบ) โดยตัดปี่ใน ตะโพน และกลองทัด ออก ใช้ปี่ชวาแทนปี่ใน ใช้กลองมลายูแทนตะโพนและกลองทัด ส่วนเหม่งนั้นมีเสียงไม่เหมาะกับวงปี่พาทย์จึงไม่นำมาใช้ ใช้แต่โหม่งซึ่งมีอยู่เดิม เรียกว่า "วงปี่พาทย์นางหงส์"วงปี่พาทย์นางหงส์ใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพมาแต่โบราณก่อนวงปี่พาทย์มอญ สาเหตุที่เรียกว่าปี่พาทย์นางหงส์ ก็เพราะใช้เพลงเรื่องนางหงส์ 2 ชั้น เป็นหลักสำคัญในการบรรเลง นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการไปใช้บรรเลงเพลงภาษาต่าง ๆ เรียกว่า "ออกภาษา" ด้วย


5.วงปี่พาทย์มอญ


ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ได้อิทธิพลมาจากมอญ เช่น ฆ้องมอญ ปี่มอญ ตะโพนมอญ และเปิงมางคอก ปัจจุบันวงปี่พาทย์มอญมี 3 ขนาด ได้แก่
   5.1 วงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า ประกอบด้วยปี่มอญ ระนาดเอก ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง
   5.2 วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า แต่เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องมอญวงเล็ก
   5.3 วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ แต่เพิ่ม ระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็ก
             วงปี่พาทย์มอญนั้นที่จริงแล้วใช้บรรเลงในโอกาสต่าง ๆ ได้ทั้งงานมงคล เช่น งานฉลองพระแก้วมรกตในสมัยธนบุรี และงานอวมงคล เช่น งานศพ แต่ต่อมานิยมบรรเลงในงานศพ เนื่องจากท่วงทำนองเพลงมอญมีลีลาโศกเศร้า โหยหวน ซึ่งเหมาะกับบรรยากาศของงาน จนบางท่านนึกว่าปี่พาทย์มอญใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น


6.วงปี่พาทย์ชาตรี

 

 เป็นวงดนตรีเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ  ใช้บรรเลงประกอบการแสดงโนราห์ชาตรี  และหนังตลุงทางภาคใต้ของไทย  เรียกว่า “ วงปี่พาทย์ชาตรี “  และที่เรียกว่า “ วงปี่พาทย์เครื่องเบา “ เพราะเรียกชื่อให้ตรงกันข้ามกับ “ ปี่พาทย์เครื่องหนัก “( ปี่พาทย์ไม้แข็ง ) ทั้งนี้เพราะเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ชาตรีมีน้ำหนักเบากว่าเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง
ปี่พาทย์ชาตรีประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้
1.  ปี่                    
2.  โทนชาตรี                  
3.  กลองชาตรี  ( กลองตุ๊ก )            
4.  ฆ้องคู่                
5.  ฉิ่ง                      
6.  กรับไม้

7.วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
                             
               
                เป็นวงปี่พาทย์ประสมชนิดหนึ่ง  มีต้นเค้าสืบเนื่องมาจากละครดึกดำบรรพ์  ซึ่งเจ้าพระยา เทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน  กุญชร)  และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรม พระยานริศรานุวัตติวงศ์  ร่วมกันปรับปรุงขึ้นโดยอาศัยแนวอุปรากร(Opera)  ของตะวันตกเข้ามาประกอบ  ละครนี้ได้ชื่อตามโรงละคร  ซึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ตั้ง ชื่อว่า “โรงละครดึกดำบรรพ์”  ละครก็เรียกว่า “ละครดึกดำบรรพ์” ด้วย วงปี่พาทย์ที่บรรเลงในการเล่นละครครั้งนี้จึงมีชื่อว่า “ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์”  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์  ได้ทรงคัดเลือกเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มนุ่มนวล ประสมเข้าด้วยกันให้เหมาะสมกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์ คือ  ระนาดเอก(ใช้ไม้ นวม)  ระนาดทุ้ม  ระนาดทุ้มเหล็ก  ฆ้องวงใหญ่  ฆ้องหุ่ย 7 ใบ  มีเสียงเรียงลำดับกัน 7 เสียง  ขลุ่ยเพียงออ  ตะโพน  กลองตะโพน  ฉิ่ง  ซออู้ (เพิ่มขึ้นภายหลังเมื่อแสดงเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย  ได้ทรงบรรจุเพลงสังขาราซึ่งต้องใช้ซออู้สีประกอบ)  ขลุ่ยอู้ (มีผู้คิดเพิ่ม ในภายหลัง)
                วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์นี้นอกจากจะเปลี่ยนแปลงการประสมเครื่องดนตรีต่างไป จากวงปี่พาทย์เดิมแล้ว  ยังได้เปลี่ยนแปลงวิธีการตั้งเครื่องดนตรีอีกด้วย  โดยตั้งระนาด เอกไว้กลาง  ระนาดทุ้มอยู่ขวา  ระนาดทุ้มเหล็กอยู่ซ้าย  ฆ้องวงใหญ่อยู่หลังระนาดเอก  ส่วนระเบียบวิธีการบรรเลงนั้นก็มีแบบแผนเฉพาะตัว  ไม่เหมือนกับการบรรเลงในการ แสดงโขนละครโดยทั่วไป

8. วงปี่พาทย์เสภา

             
                     

เป็นวงปี่พาทย์ซึ่งใช้กลองสองหน้ากำกับจังหวะหน้าทับแทนตะโพนและกลองทัดเริ่มนำมาบรรเลงร่วมกับการเล่นเสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

1 ความคิดเห็น: